bpng

กำหนดการและหลักสูตร

หลักสูตรเจริญสติเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต

จิตที่ฝึกดีแล้วนําสุขมาให้

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นการเผยแผ่คําสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ด้วยการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวตามแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ (มหาสติปัฏฐานสูตรว่าด้วยอิริยาบถบรรพและสัมปชัญญะบรรพ)
  2. เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจในธรรมปฏิบัติทั้งหลายได้มีโอกาสฝึกฝนอบรมจิตอย่างจริงจังต่อเนื่อง
  3. เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมสามารถนําประสบการณ์จากการเข้าอบรมในครั้งนี้ไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิต ตามแนวทางพระพุทธศาสนาได้ถูกต้องเหมาะสมยิ่งขึ้น

หลักสูตรปฏิบัติธรรม

หลักสูตรปฏิบัติธรรมเพื่อให้เกิดปัญญาสู่ความหลุดพ้นนี้ อุบายการจัดการกับจิตให้อยู่กับ ปกติปัจจุบันธรรมได้นั่นแหละ คือหลักสูตรการเฝ้าดูธรรมชาติของกายและจิตตัวเอง นั่นแหละคือหลักพุทธธรรม ดูเป็นมรรคหรือวิธีการความรู้แจ้งสิ้นสงสัยใจหลุดพ้นนี่คือผล

การฝึกตามแบบพุทธวิธีจริงๆ คืออย่าให้เกี่ยวกับพิธีกรรม วัฒนธรรม หรือประเพณีอะไรทั้งสิ้น ใช้สติ ตรงเข้าดูจิตได้เลยยิ่งดี ดูแล้วดูเล่า ซ้ำๆ ซากๆ อยู่อย่างนั้น จนกว่าจะได้คําตอบจากสติคือผู้รู้ที่เขาจะทําหน้าที่ของเขาเอง

เพราะเหตุว่า ในจิตของแต่ละคน มีการสั่งสมกิเลส คือความพอใจ ไม่พอใจ มามากมายหลากหลาย จะต่างกันก็แต่อนุสัย อาสวะเหนียวแน่นต่างกัน แต่สรุปแล้วก็ทุกข์ เพราะใจมีอุปาทานเหมือนกัน ทุกข์เพราะโมหะ คือความหลงเหมือนกัน ไม่หลง ก็ไม่โลภ ไม่โกรธ

และในทุกชีวิตของมนุษย์เรามีภาวะที่ว่างโดยปกติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว มันจึงไม่ยาก หากทุกคนจะได้เริ่มเรียนรู้การอยู่กับปัจจุบันธรรมที่โล่งโปร่งเบาสบาย เรียนรู้การเกิดและการดับของอารมณ์ที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้เกิดหลงพอใจไม่พอใจ ศึกษาการเกิดขึ้นและการดับไปของนิวรณ์ธรรมอย่างละเอียด ที่คงรูปอยู่ในลักษณะของอนุสัยหรืออาสวะธรรมด้วย เข้าถึงภาวะของการไม่เกิดไม่ดับที่ถาวรได้ ผู้นั้นก็ไม่ต้องเรียนรู้อะไรอย่างไรแบบไหนที่ใดอีก เพราะได้เข้าถึงความรู้อันสมบูรณ์แห่งสติปัญญาของมนุษย์แล้ว

ดังนั้นหากแม้นว่าผู้ใดตั้งใจฝึกฝนเจริญสติ ตั้งใจทําความรู้สึกตัวทั่วพร้อมอยู่โดยปกติแล้ว ก็หมายความว่า ผู้นั้นได้มีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร พุทธภาวะคือรู้ ตื่น เบิกบาน จะเป็นกุญแจดอกสําคัญที่จะไขประตูโลกียะ สู่โลกุตระได้ โดยไม่ต้องหวังพึ่งใครที่ไหนก็ได้

การกระตุ้น เร่งเร้า ชี้แจง ทําความเข้าใจ จะทําเฉพาะที่คนอินทรีย์ยังไม่เข้มแข็งพอที่ จะฝืนยืนหยัดปรารภความเพียร ฝึกนิสัย ฝืนนิวรณ์ธรรมได้เท่านั้น คือจิตยังไม่สามารถอยู่กับตัวรู้ สติหรือพุทธะ ยังเป็นพี่เลี้ยงให้กับจิตยังไม่ได้ นี่คือภาระของอาจารย์

หากผู้ใดมีอินทรีย์เข้มแข็งเพียงพอ ท่านก็จะปล่อย คือดูอยู่ห่างๆ ถ้าเป็นนักมวยก็แสดงว่าฝีไม้ลายมือพอฟัดพอเหวี่ยงกับคู่ต่อสู้ เขาก็จะให้โอกาส ขึ้นเวทีเพื่อชิงแชมป์ได้ ฉันใดก็ดี หากนักปฏิบัติท่านใดมีคุณธรรม 5 ประการที่เพียงพอ ท่านก็จะให้เข้า ห้องกรรมฐานเก็บอารมณ์

คุณธรรม 5 ประการนี้ ท่านมักเรียกว่า อินทรีย์ 5 ได้แก่

  1. ศรัทธา ความจริงใจ ความตั้งใจ
  2. วิริยะ ความขยัน ความกล้าพิสูจน์
  3. สติ ความรู้สึกตัว ความระลึกรู้
  4. สมาธิ ความตั้งมั่นของจิต ไม่หวั่นไหวต่อการกระทบสัมผัส
  5. ปัญญา ความรู้เห็น ความเข้าใจ ความเข้าใจชีวิตที่เป็นอิสระ

อินทรีย์ของผู้ปฏิบัติทั้ง 5 ข้อนี้ แม้จะไม่แก่กล้ามากนัก แต่ก็ต้องอยู่ในระดับที่ แก้ไขอารมณ์พื้นฐานตัวเองเป็น เช่น ติดความขี้เกียจ ติดความง่วง ความเบื่อ หรือความฟุ้งซ่าน รู้จักการประคองตัวรู้ได้บ้างแล้ว เพื่อการศึกษาเฝ้าดูที่ละเอียดมากขึ้นท่านจะให้เข้าห้องกรรมฐานแบบขังเดี่ยว ท่านเพียงจะคอยสอบและส่งอารมณ์ให้เท่านั้น ส่วนจะใช้เวลากี่วัน อันนี้เป็นดุลยพินิจของครูบาอาจารย์ที่ดูแลการปฏิบัติ

วันหนึ่งๆ คนเราคิดปรุงแต่งไปร้อยแปดพันเก้า กิเลสพันห้า ตัณหาร้อยแปดประการ เช่น บางคนแม้ได้รับการฝึกฝนวิธีการฝึกจิตแบบอื่นมาแล้ว (อาจฝึกผิด ฝึกไม่จริง หรือฝึกน้อย) มารับคําแนะนําก็ยอมรับได้ แต่พอลงมือฝึกจิตเท่านั้นแหละ ความคิดปรุงแต่งเข้าเล่นงาน ขโมยหนีกลับก็มิใช่ว่าจะได้ดีทั้งหมด

การที่เราจะนําหลักการสอนที่เป็นสูตรสําเร็จตายตัวตามที่เราคิดได้ แล้วไปสอนให้กับทุกๆ คนนั้น สําหรับพุทธธรรมแล้วไม่ใช่เลย พุทธธรรมนั้นเป็นเรื่องของเหตุปัจจัยธรรมชาติ เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เฉพาะอารมณ์ เฉพาะสถานที่ เฉพาะเวลา เฉพาะจิตขณะนั้นๆ

สรุปก็คือต้องดูที่ความพร้อมของเหตุปัจจัยทั้งภายนอกและภายใน การสอนจึงสัมฤทธิ์ผลได้ง่าย (ดูเพิ่มเติมในมหาปัฏฐานสูตร) ตัวอย่างเช่น การสอนแบบเซ็น คือใช้วิถีจิตสู่จิต หมายถึงการสื่อความจริงจากจิตหนึ่งสู่จิตหนึ่ง ท่ามกลางความพร้อมแห่งเหตุปัจจัย ความตื่นโพลงของจิตก็ปรากฏออกมาได้ง่าย

อันนี้ อยากจะยกให้ครูบาอาจารย์ (บรมกัลยาณมิตรสูตร) ที่จะเขี่ยให้ถูกจุดลุกโพลงสว่างแจ้งในจิตของศิษย์ได้