วิธีเจริญสติ
วิธีการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ ผู้ปฏิบัติสามารถสัมผัสกับสติที่เป็นความรู้แจ้งภายในหรือญาณปัญญาได้ไว เพราะขบวนการฝึกฝนไม่เน้นพิธีกรรม เน้นการกําหนดรู้ เฝ้าดูทุกข์โดยตรง แม้การกําหนดรู้ก็ไม่ให้ทําแบบบังคับกดเกร็งเพ่งจ้อง ไม่เปิดโอกาสให้จิตอยู่กับนิวรณ์หรือเผลอมากจนเกินไป ที่สําคัญคือไม่จํากัดอิริยาบถในการฝึก ไม่นิยมนั่งหลับตาเพราะจะทําให้ง่วงง่ายหรือติดสงบ จิตหลบไปยึดความสบายแล้วจะไม่เห็นความคิด หลังจากผ่านการฝึกไปแล้ว ๔ วัน นิวรณ์จะจางคลาย “ตัวรู้ที่เป็นสติ” จะแยกออกจาก “ตัวคิดที่เป็นสังขาร” ได้ค่อนข้างชัดเจน
การเจริญสติแนวนี้ พูดง่าย ฟังง่าย แต่เข้าใจยาก เพราะความเข้าใจในวิธีการนี้ เน้นองค์ความรู้ที่ได้แบบประจักษ์แจ้งผุดขึ้นจากจิต ชนิดที่มันเป็นเอง อันสืบเนื่องมาจากการที่ได้เจริญสติปัฏฐานสี่อย่างจริงจังต่อเนื่องและถูกต้อง “เฝ้าดูอาการกายเคลื่อนไหว เฝ้าดูอาการใจที่นึกคิด” ฝึกสติให้ทําหน้าที่รู้ทุกข์โดยตรง ให้รู้เท่าทันแบบเป็นธรรมชาติ จนกระทั่ง ตัวรู้นี้ตื่นโพลง จิตใจสว่างรู้ทุกข์อย่างแจ่มแจ้ง อายตนะเปิดกว้างจิตจะเห็นความจริงในจิต เข้าใจจิตเดิมแท้ของตัวเองที่ไม่ถูกปรุงแต่งว่ามันเป็นอย่างไร ที่มันทุกข์เพราะอะไร ทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วจะดับอย่างไร จะรู้เห็นเอง
สติจะรู้เองโดยที่เราไม่ต้องกําหนดรู้ จิตมีสภาวะสงบแบบจิตตื่น ไม่ใช่สงบแบบจิตหลับ เกิดการชําระจิตที่สั่งสมอารมณ์มาในอดีตที่เกิดเพราะโมหะ จิตเป็นสัมมาทิฏฐิ มีตาใน เข้าใจปัจจุบัน รู้เท่าทันอารมณ์ปรุงแต่งที่จักเกิดขึ้นในอนาคต จิตจะเกิดปัญญาปล่อยวางหรือคลายทุกข์ในขั้นที่เรียกได้ว่าเป็นการสํารอกเลยทีเดียว เพราะตัวรู้มีความเร็วเท่าทันตัวคิด สังขารจึงไม่ถูกปรุงแต่ง อาการของไตรลักษณ์จะปรากฏชัดมาก คิดเท่าไร ดับได้เท่านั้น เป็นปัจจุบันธรรมจริงๆ ตัวรู้จะกลายเป็นปัญญาวิราคะธรรม หน่ายต่อความหลงในการสร้างภพชาติในจิต เข้าใจอุปาทานแล้วเกิดการสลัดตัวเองออกจากอุปาทานนั้นอย่างรุนแรง จิตจะสว่างแจ่มแจ้ง มีความผ่องใส อิสระในวิหารธรรม คงความเป็นผู้รู้ได้เองโดย ธรรมชาติ ไม่สงสัยในเรื่องราวของชีวิต
วิธีเจริญสติในอิริยาบถนั่ง
การนั่งเจริญสติจะนั่งแบบใดก็ได้ เช่น นั่งพับเพียบ นั่งเหยียดขา นั่งขัดสมาธิ นั่งเก้าอี้ แต่ในขณะที่ทําอยู่ไม่ต้องหลับตา ซึ่งเรียกวิธีการนี้ว่า “การสร้างจังหวะ” ซึ่งมีอยู่ 14 จังหวะ พอครบทุกจังหวะก็ให้ทํา ต่อไปเรื่อยๆ และให้มีสติกําหนดรู้การเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ให้มีสติกําหนดรู้ให้เป็นเสมือนลูกโซ่ที่เกี่ยวกันไปเรื่อยๆ อย่าให้ขาดตอน เมื่อเผลอคิดออกไปก็ให้กําหนดรู้ กลับเข้ามาทําความรู้สึกอยู่ที่มือที่เคลื่อนไหวดังเดิม จนเป็นความรู้สึกตัวที่แจ่มชัดเป็นมหาสติที่สามารถกําหนดรู้ทันอาการของกายที่เคลื่อนไหวและจิตที่นึกคิดตามความเป็นจริง จนเกิดเป็นความรู้แจ้งในสัจธรรมขึ้นมาวิธีเจริญสติในอิริยาบถเดิน
สําหรับ “การเดินจงกรม” ให้ก้าวเท้าตามปกติ ไม่เร็วไม่ช้า ไม่ยาวไม่สั้นจนเกินไป ให้พอดีกับที่เราเดิน เอามือไขว้หลัง หรือจับกันไว้ด้านหน้าก็ได้ ไม่ไกวแขน เดินไป-กลับทางตรง ประมาณ 10-12 ก้าวก็พอ ไม่ต้องใช้คําบริกรรมประกอบการเดิน สติระลึกรู้เท้าขณะสัมผัสพื้นทุกครั้งไปเรื่อยๆ รู้เป็นธรรมชาติ อย่าจดจ้อง ทําสลับกับการนั่งสร้างจังหวะ แต่ละครั้งใช้เวลาช้านานขึ้นอยู่กับอินทรีย์ของแต่ละบุคคล ขณะปฏิบัติหากมีความคิดเกิดขึ้นก็ให้รู้แล้วปัดทิ้งแล้วกลับมาอยู่กับความรู้สึกตัวกับอิริยาบถที่กําลังเคลื่อนไหวอยู่ ณ ขณะนั้นทันที เฝ้าดูเฝ้ารู้ ทําให้ต่อเนื่อง ทําให้มากๆ ทําจนถึงธรรมการเคลื่อนไหว 5 เเบบ
- การเคลื่อนไหวทางร่างกายที่เป็นอิริยาบถใหญ่ เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน
- การเคลื่อนไหวในอิริยาบถย่อย เช่น การหายใจ การกิน การดื่ม การกระพริบตา การคู้เหยียดอวัยวะ การถ่ายอุจจาระปัสสาวะ การหลับ การตื่น เป็นต้น
- การเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงจากสภาพธาตุขันธ์ในร่างกาย เช่น ร้อน หนาว เจ็บปวด หิว อิ่ม เมื่อย เพลีย เป็นต้น
- การเคลื่อนไหวทางจิต เช่น จิตนิ่ง จิตคิด จิตไม่คิด จิตปรุงแต่ง จิตฟุ้งซ่านทะยานอยาก เป็นต้น
- การลื่นไหลของจิต ที่ไหลไปสู่ความพอใจไม่พอใจ ไหลไปสู่ราคะ โทสะ โมหะ ความผูกพันผสมกลมกลืนของจิตที่ติดอยู่กับอารมณ์ที่ยากจะแยกออก การเคลื่อนตัวหลุดพ้นจากสิ่งร้อยรัด
การปลูกฝังโพธิ
การพัฒนาวัตถุ จําเป็นต้องหาอุปกรณ์หรือเครื่องมือที่ช่วยเป็นเหตุปัจจัยให้บรรลุวัตถุประสงค์ฉันใด การเจริญสติก็จําเป็นต้องมีเครื่องมือหรืออุปกรณ์ ท่านเรียกว่า “นิมิต” หรือเครื่องหมายในการปลูกฝังสติ เพื่อตัวโพธินี้จะได้เจริญเติบโตแตกกิ่งก้านสาขา ให้ร่มเงาและให้มรรคผลในที่สุด
การปลูกพืชโดยทั่วไปนั้นก่อนอื่นต้องมีการเพาะเมล็ดก่อน อาจเพาะในแปลงเพาะ ในถุงดํา ในกระถาง หรือภาชนะอื่นใดก็ได้ สําคัญว่ามีองค์ประกอบคือดิน แร่ธาตุต่างๆ ครบไหม และอีกอย่างต้องเพาะไว้ ในที่ร่มก่อนที่จะนําออกปลูกในที่แจ้ง
สติเมล็ดพืชพันธุ์แห่งโพธินี้ก็เช่นเดียวกัน การเพาะก็ย่อมอาศัยพื้นที่เช่นกัน และกายนี้ ก็เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุด เพราะเหตุว่าจะไม่ต้องมีการย้ายออกไปปลูกข้างนอกแต่ประการใด หากสติระลึกรู้อยู่กับกายมั่นคงดีแล้ว ก็ย่อมจะเจริญเติบโตเป็นร่มเงาให้สติย่อมเห็นจิตได้ เห็นทั้งกายที่เคลื่อนไหวและใจ ที่นึกคิดในคราวเดียวกันไปเลย ไม่ใช่ทําทีละอย่าง แต่จะทําได้ก็ต่อเมื่อสตินี้เป็นมหาสติเสียก่อน ดังเช่น พุทธดํารัสความว่า “เมื่อเจริญกายคตาสติบริบูรณ์ย่อมทําให้สติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ เมื่อทําสติปัฏฐานสี่บริบูรณ์ย่อมทําโพชฌงค์ให้บริบูรณ์ เมื่อเจริญโพชฌงค์บริบูรณ์ย่อมทําเจโตวิมุติและปัญญาวิมุติให้บริบูรณ์ได้”
สําหรับการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวนี้ จะเอากายและจิตเป็นนิมิตพร้อมกันไปเลย เพียงแต่ในเบื้องต้น เน้นย้ำให้ผู้ใหม่อย่าพึ่งด่วนไปดูความคิด ให้ประคองสติอยู่กับกายมากกว่าจิต สัดส่วนประมาณ ๗๐/๓๐ ต่อเมื่อสัมผัสอารมณ์รูปนามได้แล้ว การดูจิตเห็นจิตจะเป็นไปเอง อาการเช่นนี้บอกให้เรารู้ว่าสมถะและวิปัสสนาแท้จริงแล้ว หากปฏิบัติถูกต้องจะเหมือนหัวงูกับหางงู มันไม่ได้แยกหรือแตกต่างอะไรกันเลย เพียงแต่เมื่อประคองความเพียรมีสมาธิก็เป็นสมถะ แต่พอมรรคสมบูรณ์การรู้แจ้งปรากฏก็เป็น วิปัสสนาตรงนั้นทันที
การเจริญสติตามรู้กายในกายในพระไตรปิฎก
หลายคนอาจยังไม่คุ้นหูชินตากับรูปแบบของการเจริญสติแนวเคลื่อนไหว บางแห่งถึงกับยอมรับไม่ได้ที่จะสมาทานถือปฏิบัติก็มี แต่ก็คงเป็นธรรมดาสําหรับรูปแบบ เพราะนี่ไม่ใช่สัจธรรมของวิญญูชน เป็นเพียงรูปแบบทางวัฒนธรรมเพื่อการปลูกฝังคุณธรรมคือสติสัมปชัญญะเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว ไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามก็ต้องอาศัยเหตุปัจจัยระยะเวลาในการปลูกฝังกันนานพอสมควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวเนื่องด้วยจิตใจ ความยึดถือ ความเคารพ ความศรัทธาที่ปราศจากปัญญาแล้วยิ่งจะเปลี่ยนแปลงพัฒนาได้ยาก
ผู้มีปัญญาต้องมองกรรมฐานทุกรูปแบบเป็นเพียงอุบายฝึกสติให้ระลึกรู้กาย เวทนา จิต ธรรม เท่านั้น และมองที่อุบายไหนจะให้ได้สติ สามารถนํามาแก้ทุกข์ได้จริงๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงมือพิสูจน์ และวิธีไหน ที่จะเหมาะสมกับอินทรีย์ของตน แต่สําหรับผู้ปฏิบัติที่ได้สัมผัสผลแล้วก็จะไม่มีปัญหาใดๆ ที่ต้องให้สงสัยอีกต่อไป
การเจริญสติด้วยตามรู้อาการกาย เช่น การตามรู้ลมหายใจ (อานาปานสติ) ทุกรูปแบบ การรู้อิริยาบถน้อยใหญ่ การตามรู้อาการของอวัยวะสามสิบสอง การตามรู้ความปฏิกูลของร่างกาย การตามดูตามรู้อาการกายนี้เป็นเพียงธาตุสี่หรือระลึกรู้ความเปลี่ยนแปลงของกายนี้เป็นอสุภะดุจซากศพในป่าช้าทั้งเก้า เป็นการเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน หมวดว่าด้วยการมีสติตามรู้เห็นอยู่กับฐานกาย หรือกายคตาสติ หมายถึงสติระลึกรู้อยู่กับอาการกายทั้งสิ้น รู้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง จุดใดจุดหนึ่ง เพื่อให้เกิดการรู้ตัวทั่วพร้อม อันจะนําไปสู่ผลคือวิชชาและวิมุติในลําดับต่อไป
การเจริญสติแบบเคลื่อนไหวอิริยาบถ ที่มีการนั่งสร้างจังหวะและการเดินจงกรมจัดอยู่ในหมวดของ อิริยาบถและสัมปชัญญะบรรพ แต่ความสําคัญของกรรมฐานทุกรูปแบบนั้น เป็นเพียงเครื่องมือให้ได้ ตัวรู้ “สติแบบปรมัตถ์” หรือมหาสติ เป็นอาการรู้ตัวทั่วพร้อมรู้ได้ทั้งกายและจิต
“สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะฯ ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติ” คือรู้ตัวทั่วพร้อม รู้ทุกๆ อาการในร่างกาย แม้ว่าจะหายใจเข้าออก หรือเคลื่อนไหวอิริยาบถใด สติจะรู้เท่าทัน สติในวิปัสสนาจะเริ่มจากจุดนี้ไปและถูกพัฒนามาเป็นสมาธิแล้วนั่นเอง เพียงเตรียมสู่การรู้แจ้งเท่านั้น หรืออาจเกิดการรู้แจ้งได้ ในขณะที่ “ตัวรู้” เปลี่ยนสภาวะตรงนั้นเลยก็ได้
หากสติได้รับการพัฒนาตามขั้นตอนกายคตาสติอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะเกิดอาการของอารมณ์วิปัสสนาตามลําดับ ไม่ว่าจะเป็นการกําหนดรู้กับอาการกายส่วนใด เจริญสติบรรพไหนก็ตาม (ไม่ว่าจะเป็นอานาปานสติ ตามรู้ลมหายใจ,กายคตาสติ ตามรู้อิริยาบถ) จุดสตาร์ทต่างกัน แต่เมื่อขึ้นสู่เส้นทางอารมณ์กรรมฐานได้แล้วก็จะเหมือนกัน ดังนี้
- ช้าก็รู้
- เร็วก็รู้
- เกิดความรู้สึกตัวทั่วพร้อม (สัพพะกายะปฏิสังเวที)
- เกิดความเอิบอิ่มใจ (ปีติปะฏิสังเวที)
- เกิดความสุขในขณะเคลื่อนไหวกาย (สุขะปะฏิสังเวที)
- รู้ว่าจิตที่ปรุงแต่งสงบระงับแล้ว (จิตตะสังขาระปฏิสังเวที)
- รู้ว่าไม่ปรุงแต่ง (จิตตะปะฏิสังเวที)
- รู้ว่าดับความปรุงแต่งให้สงบระงับอยู่ (ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง)
- รู้จิตในขณะเคลื่อนไหวด้วย (จิตตะปฏิสังเวที)
- จิตจะเกิดปราโมทย์ (อภิปปะโมจจะยัง จิตตัง)
- มีสมาธิตั้งมั่น (สมาทะหัง จิตตัง)
- เกิดการปล่อยวาง (วิโมจจะยัง จิตตัง)
- เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจา)
- ความจางคลาย (วิราคา)
- ความดับไม่เหลือ (นิโรธา)
- ความสลัดคืน (ปฏินิสสัคคา)